ทันทีที่ได้ใช้งาน ก็รู้เลยว่า โปรแกรมนี่แหละ ใช่เลย เหมือนคุ้นเคยกันมาเป็นอย่างดี อยากจะให้มันทำอะไร เกี่ยวกับ Database งมๆ เอาไม่นานก็ได้คำตอบและวิธีการ และแล้วก็ได้ใช้งาน FileMaker Pro มาได้นานพอสมควร ก็เลยจะมาถ่ายถอดประสบการณ์ให้ละกัน เพราะลองค้นหาดูบน Internet ก็ไม่ค่อยมีใครสอนกันแหะ
ก่อนจะว่ากัน ก็ออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้เก่งเรื่อง Database เท่าไร และก็ไม่ได้เป็นเซียนเรื่องการเขียนโปรแกรมด้วย ผมก็เหมือนคน IT ของไทยทั่วไป ที่ทำทุกอย่างได้เกือบหมด แต่ไม่เชี่ยวชาญสักอย่างหน่ะครับ ที่จะเอามาเล่าให้อ่าน ก็คือประสบการณ์จากการทำงานเท่านั้นเองครับ
อย่างแรกก็อยากจะให้ผู้อ่านรู้จักโครงสร้าง Database อย่างง่ายๆ ก่อน เพราะมันจำเป็นที่จะต้องรู้โครงสร้างก่อน ไม่งั้น งงแน่นอน โครงสร้างมันก็ง่ายๆ เปรียบเทียบเอาแบบที่ผมเข้าใจได้ดังนี้
การเก็บข้อมูลสมัยยังไม่มี computer :
ถ้าเราจะเก็บข้อมูลของพนักงานทุกคนในบริษัทหนึ่งๆ สมมุติว่ามี 100 คน แน่นอนว่า เราก็ต้องมีกระดาษ 100 ใบ (สมมุติว่าคนละใบ อย่าคิดอะไรให้วุ่นวาย) สำหรับเก็บข้อมูลของทุกคน ถ้าดึงเอากระดาษข้อมูลของใครสักคน ออกมาดู แน่นอนอีกว่าโครงสร้างของการบันทึกข้อมูลแต่ะละคน มันต้องเหมือนๆกัน เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทร อะไรทำนองเนี่ย โดยมากก็จะพิมพ์หัวข้อที่ต้องการไว้ก่อนแล้วค่อยมาเติมข้อมูลทีหลัง เมื่อได้ช้อมูลครบ 100 คน แล้วก็เก็บรวมกันไว้ในแฟ้ม เขียนชื่อแฟ้มว่า ข้อมูลพนักงาน เวลาจะหาข้อมูลใครสักคน ก็ต้องเอาแฟ้มมาเปิด แล้วก็ไล่เปิดหาเอาจนกว่าจะเจอ
ต่อมามีคอมพิวเตอร์แล้ว :
กระดาษเริ่มใช้น้อยลง แต่ก็ยังต้องใช้อยู่ดี ที่เปลี่ยนก็คือปรับทุกอย่างที่อยู่บนกระดาษให้มาอยู่บน computer
- หัวข้อที่เว้นว่างให้กรอกข้อมูลบนกระดาษนั้น มาอยู่บน file maker pro มันเรียกว่า field
- กระดาษแต่ละแผ่นที่บันทึกข้อมูลหลายๆอย่างของพนักงานแต่ละคนนั้น มันก็คือ 1 record (ใน 1 record จะประกอบไปด้วย field อย่างน้อย 1 field ก็เหมือนข้อมูล 1 คน ประกอบไปด้วย ชื่อ อย่างเดียว เป็นอย่างต่ำ)
- แฟ้มที่รวมกระดาษทุกใบของพนักงานทั้งหมด ก็ถูกเรียกว่า File (ดังนั้น 1 file ก็จะประกอบไปด้วย record อย่างน่้อย 1 record ไง ไม่งง นะ)
เขียนเป็นโครงสร้างได้ดังนี้
1 File —-> หลายๆ Record (อย่างน้อยสุดก็ 1 record) —> หลายๆ Field (อย่างน้อยสุดก็ 1 field)
คราวนี้ เมื่อมีหลาย File เข้า มันก็ต้องทำ Folder เก็บหลายๆ File นี้ไว้ด้วยกัน และจะเกิดเป็นระบบฐานข้อมูลใหญ่ขึ้น เมื่อทำการเชื่อมแต่ละ file เข้าด้วยกัน อันนี้ว่ากันทีหลัง เพราะมันวุ่นวายพอสมควรครับ